วงจรกันดูด เดินสายไฟ/ติดตั้งกันดูด 1 เฟส Wiring Diagram RCD(RCCB,RCBO)

บทความนี้เป็นตัวอย่างของการติดตั้งกันดูด สำหรับไฟ 1 เฟส โดยมีทั้งหมด 3 วงจรหลักๆ แต่ละวงจรมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน

1 วงจรการต่อแบบมีเซอร์กิตเบรกเกอร์และอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ทำหน้าที่เป็นเมนสำหรับไฟ 1 เฟส (MCB + RCCB)

MCB RCCB Wiring Diagram วงจรกันดูด การเดินสายกันดูด 1 เฟส

ข้อดี

– ราคาถูกเนื่องจาก กันดูด(RCCB) 1 ตัว สามารถป้องกันไฟรั่วไฟดูดได้ทั้งบ้าน
– ลดความยุ่งยากในการแยกสายนิวตรอลภายในบ้าน
– เหมาะกับบ้านเก่าที่สายนิวตรอลต่อรวมกันหมด
– ง่ายในการเพิ่มกันดูด โดยต่อหลังจากเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์

ข้อเสีย

– หากเกิดไฟรั่วที่เครื่องใช้ไฟฟ้าตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวพร้อมกันในปริมาณน้อย(กันดูดจะรวมค่ากระแสไฟรั่วของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกตัว) ก็จะทำให้กันดูดทริปและเมื่อกันดูดทริป เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด จะไม่สามารถใช้งานได้
– เมื่อกันดูดทริป ก็จะไม่รู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวไหนมีไฟรั่ว ต้องตรวจสอบทีละอุปกรณ์
– ต้องต่อสายไฟเพิ่มเติมให้กับกันดูด
– ใช้พื้นที่ในตู้เพิ่มอีก2โพล หากจำนวนช่องในตู้อาจจะไม่เพียงพอ แก้ไขได้โดยต้องซื้อกล่องติดตั้งเพิ่มด้านนอก

กันดูด(RCCB) ที่ใช้สำหรับติดตั้งในวงจรนี้คือ กันดูด RCCB FH202

2 วงจรการต่อแบบมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ทำหน้าที่เป็นเมน โดยมีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดแยกคุมวงจร สำหรับไฟ 1 เฟส (MCB + RCCB)

MCB RCCB Wiring Diagram วงจรกันดูด การเดินสายกันดูด 1 เฟส

ข้อดี

– ราคาถูกเนื่องจาก กันดูด(RCCB) 1 ตัว สามารถป้องกันไฟรั่วของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลายตัว โดยเลือกต่อกับอุปกรณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการเกิดไฟรั่วเท่านั้น
– เมื่อกันดูดทริป ก็ยังสามารถใช้อุปกรณ์ตัวอื่นที่ไม่ได้ต่อผ่านกันดูดได้ ยกตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างไม่นับว่าเป็นอุปกรณ์สุ่มเสี่ยง หากกันดูดทริป ก็ยังมีแสงสว่างใช้งานได้

ข้อเสีย

– หากเกิดไฟรั่วกับอุปกรณ์ที่ต่อผ่านกันดูด แค่ตัวหนึ่งหรือหลายตัวพร้อมกันในปริมาณน้อย(กันดูดจะรวมค่ากระแสไฟรั่วของอุปกรณ์ที่ต่อผ่านกันดูด) ก็จะทำให้กันดูดทริปและเมื่อกันดูดทริป อุปกรณ์ที่ต่อผ่านกันดูด จะไม่สามารถใช้งานได้
– เมื่อกันดูดทริป ก็จะไม่รู้ว่าอุปกรณ์ตัวไหนมีไฟรั่ว ต้องตรวจสอบทีละอุปกรณ์ (แต่ก็ตรวจสอบง่ายกว่า แบบที่1 เนื่องจากจำนวนอุปกรณ์ที่ต่อผ่านมีน้อยกว่า)
– ต้องต่อสายไฟเพิ่มเติมให้กับกันดูด
– ใช้พื้นที่ในตู้เพิ่มอีก2โพล หากจำนวนช่องในตู้อาจจะไม่เพียงพอ แก้ไขได้โดยต้องซื้อกล่องติดตั้งเพิ่มด้านนอก

**หมายเหตุ** วงจรแบบที่ 2 คลายกับวงจรในแบบที่ 1 แต่มีข้อควรระวังดังนี้

– ต้องทำการแยกสายนิวตรอลของอุปกรณ์ภายในบ้านที่จะทำการต่อผ่านกันดูดอย่างชัดเจน
– ภายในตู้คอนซูมเมอร์ต้องมีบาร์นิวตรอล 2 ชุด โดยต้องแยกอุปกรณ์ที่ผ่านกันดูด และอุปกรณ์ที่ไม่ผ่านกันดูด ห้ามนำมาต่อรวมด้วยกันโดยเด็ดขาด เพราะกันดูดจะไม่สามารถจับกระแสรั่วที่แท้จริงได้

กันดูด(RCCB) ที่ใช้สำหรับติดตั้งในวงจรนี้คือ กันดูด RCCB FH202

3 วงจรการต่อแบบมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ทำหน้าที่เป็นเมน โดยมีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด ชนิด RCBO แยกคุมวงจร สำหรับไฟ 1 เฟส (MCB + RCBO)

MCB RCBO Wiring Diagram วงจรกันดูด RCBO การเดินสายกันดูด 1 เฟส

ข้อดี

– ติดตั้งง่าย สามารถต่อแทนเซอร์กิตเบรกเกอร์ตัวเก่าได้เลย
– ง่ายต่อการเดินสายไฟ เนื่องจากมีสายต่อมาให้กับตัวกันดูดอยู่แล้ว
– เมื่อกันดูดทริป ก็ยังสามารถใช้งานอุปกรณ์อื่นๆได้ตามปกติ
– เมื่อกันดูดทริป ก็สามารถระบุอุปกรณ์ที่เกิดไฟรั่วได้ง่าย เพราะมีแค่อุปกรณ์ที่ต่อผ่านเท่านั้นที่เกิดไฟรั่ว

ข้อเสีย

– ราคาแพงกว่า 2 วงจรแรก เนื่องจากกันดูด(RCBO) จะใช้แยกแต่ละอุปกรณ์ ซึ่งอาจจะต้องใช้มากกว่า 1 ตัวสำหรับ 1 วงจร

กันดูด(RCBO) ที่ใช้สำหรับติดตั้งในวงจรนี้คือ กันดูด RCBO DSE201

 

สรุป

โดยรวมแล้วหากเจ้าของบ้านไม่ได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายก็ควรเลือกติดตั้งแบบที่3 เพื่อความสะดวกในการหาอุปกรณ์ต้นเหตุที่ทำให้เกิดไฟรั่ว และยังสามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆได้หากเกิดไฟรั่ว ตารางข้างล่างสรุปการเปรียบเทียบคราวๆของการติดตั้งทั้ง 3 วงจร

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ลิ้งข้อมูลต้นฉบับจากเอบีบี